วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

กลูต้าไธโอน...ความสวยที่มาพร้อมกับอันตราย



 สำหรับคนอยากขาว กลูตาไธโอนช่วยได้...

            ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อผิวขาว ขาวขึ้นภายใน 1-2 เดือน...


            ขาวผ่องอมชมพูเหมือนพริตตี้ ด้วยกลูตาไธโอนเพียว 100%...

            อยากผิวสวยเหมือนดารา กลูตาไธโอน ช่วยคุณได้...


            ผิวขาวสวยทั่วเรือนร่าง เห็นผลทันตาใน 3 วัน ด้วยกลูตาไธโอนแบบฉีด...
            ข้อความด้านบน คือ โฆษณาชวนเชื่อที่มีอยู่จริงและมีอยู่มากในเว็บไซต์ ใบปลิว ที่ต่างก็อวดอ้างสรรพคุณสารกลูตาไธโอน หรือที่วัยรุ่นชาวมหาวิทยาลัยเรียกสั้นๆ ว่าสารขาว ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ผิวขาวนวลผ่องเป็นยองใยเหมือนดารา ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว สารชนิดนี้ถูกคิดค้นมาเพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งตับ
            ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก กลูตาไธโอน ตกเป็นข่าวครึกโครมมาแล้วครั้งหนึ่งจากกรณีคลินิกเสริมความงามชื่อดังหลายแห่งมีการนำมาใช้และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศเตือน ว่า ยังไม่มีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน พร้อมทั้งให้ข้อมูลด้วยว่าการฉีดสารดังกล่าวถือว่าเสี่ยงอันตรายมาก เพราะอาจทำให้เกิดการแพ้ยาถึงขั้นช็อกและเสียชีวิต รวมทั้งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังอีกด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม คือ มีการโฆษณาเหมือนเดิม และมีการใช้เหมือนเดิม
            รศ.นพ. นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย หัวหน้าสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สารกลูตาไธโอน (Glutathione) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าสารขาว เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายที่มีกำลังสูงเมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินซี หรือวิตามินอี สารชนิดนี้เป็นสารที่ยับยั้งการทำงานของเม็ดสี ทำให้เม็ดสีของผิวหนังเปลี่ยน เม็ดสีที่อยู่ที่ผิวหนังมี 2 ชนิด ได้แก่ ยูเมลานิน เป็นเม็ดสีหลักสำหรับคนเอเชีย หรือ นิโกร มีลักษณะผิวเป็นสีน้ำตาล ดำ และฟีโอเมลานิน จะเป็นเม็ดสีหลักสำหรับผิวฝรั่ง มีลักษณะผิวสีแดง ผมสีบลอนด์ ซึ่งการกินยาหรือฉีดสารกลูตาไธโอน ก็เพื่อต้องการเปลี่ยนเม็ดสียูเมลานินให้เป็นเม็ดสีฟีโอเมลานิน
            ทั้งนี้ นอกจากใช้การฉีดแล้ว ยังมีในรูปแบบของอาหารเสริมอีกด้วย แต่มีสารกลูตาไธโอนอยู่ในปริมาณน้อย จึงทำให้ไม่ค่อยได้ผลหรือได้ผลน้อย ซึ่งทำให้ไม่มีผลข้างเคียงมากนัก สำหรับการฉีดเข้าเส้นเพื่อให้ผิวขาวก็เป็นการทำที่ไม่ถาวร เป็นเพียงแค่เปลี่ยนการสร้างเม็ดสีเท่านั้น และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ ยังมีสารอีกหลายชนิดที่ทำให้ผิวขาวได้ เช่น ไฮโดรควิโนน เป็นยารักษาฝ้า และเป็นยาอันตรายอีกชนิดหนึ่ง เมื่อใช้แล้วทำให้ผิวหน้าดำได้
            ส่วนใหญ่จะมีการนำสารกลูตาไธโอนมาใช้ในคลินิก ซึ่งเป็นอันตราย เพราะถ้าฉีดแล้วทำให้เกิดอาการแพ้ หรือถ้ารุนแรงกว่านั้น ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยัน และไม่มีการทำการศึกษาและทำการวิจัยอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ไม่มีการรับรองการใช้ยากลูตาไธโอน ไม่มีการสนับสนุนทางการแพทย์ เป็นเพียงการรายงานการวิจัยที่ไม่ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบ
            รศ.นพ. นภดล ยังให้แง่คิดทิ้งท้ายว่า ขอวิงวอนให้แพทย์คำนึงถึงผลข้างเคียงและอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วยด้วย และสำหรับผู้ป่วยเองนอกจากจะไม่เกิดผลดีต่อร่างกายแล้ว ยังต้องเสียเงินโดยใช่เหตุ การมีผิวคล้ำใช่ว่าจะมีผลเสียเสมอไป แต่กลับมีผลดีด้วยซ้ำ เพราะสามารถป้องกันแสงยูวีได้ ที่สำคัญคนผิวคล้ำเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าคนผิวขาว


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น